หนุ่มเผยเรื่องราวสุดเศร้า ของหนูน้อย หลังแอบมองมาหลายวัน

ข่าวทั่วไป

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำเอาเหล่าบรรดาชาวเน็ตนั้นอดที่จะสงสารไม่ได้เลย แถมยังถูกแชร์เป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์ เมื่อได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “วสันต์ วณิชชากร” ได้ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของหนูน้อยคนหนึ่งที่พึ่งรู้ว่ามีตู้ปันสุขเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ระบุข้อความเอาไว้ว่า “ผมแอบมองน้องคนนี้มาหลายวันแล้ว น้องและแม่เพิ่งจะรู้ข่าวว่าที่นี่มีตู้ปันสุขเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว…น้องชื่อแมนยู จะสังเกตเห็นว่าที่ตามตัวน้องเค้ามีรอยไฟไหม้ คุณแม่น้องเล่าว่า เมื่อตอนประมาณหนึ่งขวบ ไฟไหม้บ้าน น้องแมนยูนอนอยู่กับตาที่เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ไฟไหม้ครั้งนั้น คุณตาเสียชีวิต แต่น้องแมนยูถูกเพื่อนบ้านช่วยออกมาได้ แต่ต้องนอนโรงพยาบาลกว่าสามเดือนโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะน้องดมควันและปอดถูกทำลายไปมาก สุดท้ายเหมือนมีปาฎิหาริย์ ในวันที่ทุกคนตัดสินใจว่าจะเอาเครื่องออกซิเจนออกเพื่อให้น้องไปสบาย

น้องแมนยูหายใจขึ้นมาเองหลังจากเอาเครื่องออกซิเจนออกได้ไม่นาน แต่บาดแผลจากไฟไหม้ลึกผิวหนังตามร่างกายหลายแห่งยังคงต้องรักษาจนถึงปัจจุบัน…แม่น้องซึ่งอนุญาตให้เรานำเรื่องและรูปออกมาเปิดเผย ซึ่งบอกว่ามีอาชีพรับจ้างทั่วไป ตั้งแต่โควิดมาก็ไม่มีงานทำ ตัวเองมีลูก 4 คน น้องแมนยูเป็นคนสุดท้อง สามีเลิกรากันไปนานแล้ว สงสารลูกเวลาหิว พอรู้ข่าวว่าที่นี้มีตู้ปันสุขก็เลยมาที่ตู้นี้ทุกวัน และยังไม่รู้ข่าวว่าตู้เราจะปิดแล้ว

ผมเห็นครอบครัวนี้หลายครั้ง การมายืนเข้าคิวรอรับของในแต่ละครั้งไม่เคยละเมิดกฎและปฏิบัติตัวดีน่ารัก แม้จะมากันหลายคน พี่สาวพี่ชายก็คอยดูแลน้องแมนยูอย่างดี น้องเดินไม่ถนัดก็ช่วยอุ้มน้อง น้องแมนยูจะเป็นที่รักของน้องๆ ในทีมปันสุข น้องจะได้ขนม ของกินของเล่นกลับไปทุกครั้ง จากสีหน้ารอยยิ้มที่ไม่มีเลยในวันแรกๆ ที่พวกเราเจอ จนเราแอบอยากรู้เรื่องราวของน้องเขา

คุณแม่บอกว่าถ้าหมดโควิดนี้น้องแมนยูจะได้เข้าเรียนอนุบาลที่ประจันตคาม…วันนี้เราได้เห็นรอยยิ้มและความร่าเริงนั้นบ้างแล้วที่หน้าตู้ปันสุข และเรายังอยากให้น้องแมนยูมีรอยยิ้มแบบนี้นานๆ…ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวหนึ่งที่เราแอบจดประวัติไว้เพื่อเยียวยาต่อไปหลังจากตู้ใบนี้ปิดตัวลง

สำหรับเงินที่เหลือหลังจากการปิดตู้จะมีการนำมาดูแลเคสที่พวกเราเห็นว่าควรเยียวยาต่อไป เรากำลังทำการเก็บข้อมูลในทุกๆ วัน โดยจะเน้นเคสผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแล เคสเด็กน้อยๆ ที่พ่อแม่ยังตกงาน และเคสที่มองเห็นแล้วว่าลำบากจริงๆ เราจะเยียวยาไปจนกว่าพวกเขาจะดีขึ้นหรือเงินเราที่มีจะหมดลงไป บางเคสมีผู้รับอาสาดูแลต่อจากพวกเราก็มีบ้างแล้ว”

ขอบคุณข้อมูล:วสันต์ วณิชชากร

เรียบเรียงโดย:setup999