ทมยันตี นักเขียนชื่อดัง เจ้าของผลงาน คู่กรรม เสียชีวิตแล้ว

บันเทิง

สะเทือนวงการเหล่าคนบันเทิงแห่อาลัยเป็นจำนวนมาก สูญเสียวงการนักเขียนชื่อดังอย่าง ทมยันตี หรือ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ จากไปในวัย 85 ปี โดย พินิจ นิลรัตน์ กรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ” เศร้า ทมยันตี จากพวกเราไปแล้ว”

และทางด้าน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาโพสต์ ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ( ทมยันตี , ลักษณวดี , กนกเรขา , โรสลาเรน ,วัสสิกา , มายาวดี ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555

เบื้องต้นครอบครัวระบุว่า นอนหลับไปเฉยๆ ทราบเรื่องเพราะมีคนเอาอาหารไปให้ แต่เจ้าตัวไม่ตื่นขึ้นมา ทมยันตี เป็นหนึ่งในนามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักประพันธ์นวนิยายชาวไทยที่มีชื่อเสียง

และสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นคุณูปการแก่วงการจำนวนมาก ซึ่งถูกนำมาทำเป็นละครและภาพยนตร์ มากมาย อาทิ คู่กรรม ,ทวิภพ, ค่าของคน ,อุบัติเหตุ ,ดาวเรือง ,ล่า, เวียงกุมกาม, นากพันธ์ ,พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา ,พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา ,ใบไม้ที่ปลิดปลิว ,ฯลฯ

ประวัติ ทมยันตี เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชายหนึ่งคน และมีน้องสาวหนึ่งคน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง

วิมลจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง

เธอตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่สาม เพื่อนของเธอได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาเธอจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

วิมลเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

วิมลได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน

กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปีถัดมา วิมลได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา, และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ