นพ.ธีระ หวั่น CV-19 ระบาดรุนแรง ชี้ไทยมี 2 เรื่องน่าห่วงที่สุด

ข่าวทั่วไป

จากสถานการณ์โควิด-19ที่แพร่ระบาดหนักทำให้คุณหมอหลายๆท่านออกมาแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้ หมอธีระ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก 2 เรื่องสำคัญไทยน่าเป็นห่วงที่สุด ระบุว่า” หนึ่ง ข้อจำกัดเรื่องระบบสนับสนุนสำคัญได้แก่ วัคซีน และการตรวจคัดกรองโรค

สอง มาตรการที่เปิดรับความเสี่ยง ทั้งภายในและภายนอกพร้อมกัน โดยที่สถานการณ์ระบาดเดิมยังรุนแรงต่อเนื่อง จุดสำคัญที่จะชี้ชะตาการจัดการการระบาดในช่วงถัดจากนี้ไปคือ การที่ประชาชนจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และได้รับเข็ม 3 เพื่อกระตุ้น ได้ทันเวลา และได้รับวัคซีนชนิดที่มีประสิทธิภาพจริงทางคลินิกอย่างเพียงพอหรือไม่

การป้องกันตัวของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใส่หน้ากาก และเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เอาใจช่วยให้ทุกคนปลอดภัยไปด้วยกัน ” ทั้งนี้ หมอธีระ ก็ได้ออกมาย้ำถึงสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 3 กันยายน 2564… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 651,293 คน รวมแล้วตอนนี้ 219,893,295 คน ตายเพิ่มอีก 10,331 คน ยอดตายรวม 4,555,500 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร อิหร่าน และบราซิล

อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 163,638 คน รวม 40,498,106 คน ตายเพิ่ม 1,477 คน ยอดเสียชีวิตรวม 662,765 คน อัตราตาย 1.6%

อินเดีย ติดเพิ่ม 45,482 คน รวม 32,902,345 คน ตายเพิ่ม 357 คน ยอดเสียชีวิตรวม 439,916 คน อัตราตาย 1.3%

บราซิล ติดเพิ่ม 26,497 คน รวม 20,830,712 คน ตายเพิ่ม 776 คน ยอดเสียชีวิตรวม 582,004 คน อัตราตาย 2.8%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,985 คน รวม 6,956,318 คน ตายเพิ่ม 798 คน ยอดเสียชีวิตรวม 184,812 คน อัตราตาย 2.6%

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 38,154 คน ยอดรวม 6,862,904 คน ตายเพิ่ม 178 คน ยอดเสียชีวิตรวม 132,920 คน อัตราตาย 2%

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อาร์เจนติน่า อิหร่าน และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90.74 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ติดเพิ่มกันหลักหมื่น

ส่วนเมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ไต้หวันติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2021 ตีพิมพ์งานวิจัยในชิลี ที่ติดตามผลของการใช้วัคซีนเชื้อตาย CoronaVac หรือที่เรารู้จักกันคือ Sinovac โดยทางชิลีมีการอนุมัติให้ใช้ในประเทศ ตั้งแต่ 20 มกราคม 2021 และมีการรณรงค์ให้ฉีดในประชาชนหลังจากอนุมัติไป 2 สัปดาห์

งานวิจัยนี้ติดตามกลุ่มประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 10.2 ล้านคนหลังจากได้รับวัคซีนไป 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ และประเมินประสิทธิภาพหลังจากรับวัคซีนครบตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ผลการวิจัยพบว่า วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 65.9% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 65.2-66.6%)

ลดโอกาสในการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ 87.4% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 86.7-88.2%) ลดโอกาสในการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียูได้ 90.3% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 89.1-91.4%) และลดโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ 86.3% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 84.5-87.9%)

เดิมในการวิจัยจากประเทศต่างๆ ในระยะที่ 3 นั้นมีข้อมูลในกลุ่มผู้สูงอายุน้อยมาก ทั้งนี้งานวิจัยนี้ช่วยชี้ให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุว่า วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 66.6% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 65.4-67.8%)

ลดโอกาสในการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลได้ 85.3% (95% CI, 84.3 to 86.3) ลดโอกาสในการป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียูได้ 89.2% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 87.6-90.6%) และลดโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ 86.5% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 84.6-88.1%)

นอกจากนี้ ในภาพรวมยังพบว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะตรวจพบในคนที่ฉีดวัคซีนเพียง 17% หลังฉีดไปเกิน 6 เดือน ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของการต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้น ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประสิทธิภาพของวัคซีนนี้หากประเมินหลังจากฉีดเข็มแรกไป 14 วัน จะน้อยกว่าที่เคยมีรายงานในวัคซีนประเภท mRNA และ viral vector

โดย CoronaVac เข็มแรก จะป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 15.5% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 14.2-16.8%) ลดโอกาสป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 37.4% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 34.9-39.9%) ลดโอกาสป่วยรุนแรงจนต้องรักษาในไอซียูได้ 44.7% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40.9-48.3%) และลดโอกาสเสียชีวิตได้ 45.7% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40.9-50.2%)

ข้อมูลข้างต้น เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่น เจอคนน้อยๆ ลดละเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ

…สำหรับสถานการณ์ของไทยเรา เน้นย้ำว่าการระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ไตรมาสสุดท้ายของปีจะเห็นการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม หากไม่ป้องกันให้ดี ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า ด้วยรักและห่วงใย

ขอบคุณข้อมูล : Thira Woratanarat